สิ่งจำเป็น ของเตรียมคลอดไปโรงพยาบาล

ของใช้เด็กและคุณแม่ในวันที่จะต้องไปคลอด

     บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของคุณพ่อที่เคยเลี้ยงลูกทั้งแบบที่ไปโรงพยาบาลรัฐฯ และโรงพยาบาลเอกชนนะครับ ซึ่งความจำเป็นในการใช้หรือไม่จำเป็นนั้น อาจจะมีการปรับเปลี่ยนในแต่ละครอบครัวแต่ละบ้าน ซึ่งเหตุผลต่างๆ ของแต่ละคน ไม่ใช่สิ่งที่จะตัดสินใจว่าเป็นสิ่งที่ผิดหรือจะถูก ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ สถานที่ และแต่ละบุคคลครับ

     โดยเรามาดู checklist ในสิ่งที่จำเป็นที่ขาดไม่ได้ตอนที่ไปเตรียมคลอดกันดีกว่า

     - เสื้อแขนสั้นผูกหน้าหรือผูกหลัง ตามแล้วแต่ถนัดแต่ละบ้าน รวมอย่างน้อย 12 ตัว

     สมัยก่อนจะถูกแนะนำว่า ใช้เสื้อผูกหลังในการใช้กับเด็กแรกเกิดดีกว่า เพราะสวมแขน ชุบๆ จับตะแคงหน่อยก็ผูกเสร็จแล้ว และด้ายก็ไม่ไปวุ่นวายกับด้านหน้าของเด็ก

     แต่สำหรับบางบ้าน จะมองว่า การผูกหลัง จะทำให้ตอนนอน เด็กจะเจ็บหลังจากปมที่ผูกเสื้อ อันนี้ต้องดูกันแล้วแต่บ้านนนะครับ สำหรับจากที่ได้ลองมาทั้งสองแบบ น้องสามารถใช้ได้ทั้งสองแบบไม่ได้ทำให้นอนไม่ได้แต่อย่างใด

     - ถุงมือ อย่างน้อย 3 คู่

     ถุงมือนั้นมีไว้เพื่อป้องกันน้องเอาเล็บข่วนหน้าตัวเอง ซึ่งบางคนก็อาจจะตัดเล็บน้องบ่อยๆ แต่เพื่อไม่ประมาทก็ใส่กันไว้ก่อนดีกว่าครับ ส่วนการใส่แบบกลับด้าน เพื่อไม่ให้เศษด้ายไปพันกับนิ้ว หรือใส่แบบปกติ อาจจะต้องพิจารณากันแล้วแต่สมควรครับ

     - ถุงเท้า อย่างน้อย 6 คู่ 

     เหตุที่ใช้ถุงเท้าเยอะกว่า เพราะในช่วงที่เน้นใช้ผ้าอ้อมยามที่อยู่โรงพยาบาลนั้น มีโอกาสที่ถุงเท้าจะเปียกแฉะได้บ่อยกว่าถุงมือ เพราะเหตุนี้จึงควรมีถุงเท้ามากกว่า

     - เข็มกลัดซ่อนปลาย 1-2 อัน

     เข็ดกลัดนั้นมีไว้กลัดผ้าอ้อมในกรณีที่ผูกผ้าอ้อมไม่ชำนาญเท่ากับคุณพยาบาล ซึ่งบางบ้านอาจจะไม่ได้ใช้ก็ได้นะครับ แต่มีติดไว้อันสองอัน ไว้ก่อนก็ไม่เสียหายครับ เพราะเด็กดิ้นหรือขยับต่างกัน

     - ผ้าอ้อมสำหรับใส่นุ่ง อย่างน้อย 36 ผืน

     เนื่องจากเด็กแรกเกิดแรกๆ จะกินปุ้บฉี่ปั้บ ทุกให้ฉี่บ่อยมาก จากที่คุณพยาบาลให้นับ อย่างน้อยก็เป็น 10 รอบขึ้นไปต่อวัน ซึ่งถ้าเราไม่ค่อยขยันเปลี่ยน อาจทำให้เป็นสาเหตุหลัก ๆ ที่น้องร้องไห้งอแงได้เลย โดยเนื้อผ้าของผ้าอ้อมแต่ละชนิดก็มีความต่างกัน ทั้งผ้าสาลู ผ้าสำลี ผ้าคอตตอน ฯลฯ ซึ่งล้วนมีข้อดีข้อเสียต่างกัน ต้อง

     - กะละมังเล็กไม่ใหญ่กว่าตัวเด็กมาก จำนวน 1 ใบ

     อันนี้เตรียมไว้กรณีต้องอาบน้ำเองที่โรงพยาบาล การใช้กะละมังใหญ่ไม่ได้ทำให้อาบน้ำได้ง่ายขึ้น แต่อาจจะทำให้ลื่นหลุดมือและทำให้เด็กจมน้ำได้มากกว่า แถมเกะกะโรงพยาบาล

     - ขันเล็กกรณีใส่น้ำอุ่นล้างก้นเด็ก 1-2 ใบ

     สิ่งนี้เป็นกรณีที่ใช้น้ำอุ่นๆ ใส่ และเอาสำลีชุบ เพื่อเช็ดล้างก้นเด็ก เหตุผลที่ใช้วิธีนี้คือ สำลีจะไม่บาดก้น และพอเป็นการใช้น้ำอุ่น จะทำให้เด็กไม่สะดุ้งเหมือนกับการเจอล้างด้วยน้ำเย็น

    - สำลีก้านเล็ก 1 กระปุก

     สำลีก้านหลักๆ ไว้เช็ดสะดือตอนหลังอาบน้ำ เพราะถ้าเป็นสำลีก้านที่ใหญ่ จะทำให้ไปเช็ดได้ไม่สุด และจะทำให้สะดือชื้นได้

     - กะละมังซักผ้าอ้อม 1-2 ใบ

     เพราะน้องฉี่บ่อยมาก ถ้าได้ซักและตากบ่อยๆ จะได้ทันใช้ครับ 

     - ผ้าขนหนูเช็ดตัว 2 ผืน

     ไว้สำหรับเช็ดตัว และ อีกผืนไว้ห่อตัว ไว้ใช้ตอนหลังอาบน้ำครับ

     - สบู่/แชมพู 1 ขวด

     ถ้าใช้แบบโฟม จะล้างตัวได้ง่ายกว่าสบู่ที่เป็นแบบน้ำ แต่ก็สามารถใช้ได้ทั้งสองแบบ

     เริ่มต้นแนะนำแบบที่ไม่มีน้ำหอม หรือหอมน้อยๆ ดูก่อนนะครับ เพราะไม่แน่ว่าน้องคนไหนจะแพ้น้ำหอม หรือยี่ห้อใด

     - ผ้าขนหนูผืนเล็ก อย่างน้อย 1-2 ผืน

     ติดไว้กรณีเช็ดเล็ก ๆ น้อยๆ แต่ถ้าจะเช็ดน้องแบบเล็ก ๆ น้อยๆ ก็ใช้จำพวก สำลี ได้

     - กระดาษทิชชู่แผ่นใหญ่ อย่างน้อย 1-2 ม้วน

     อันนี้ไว้วางไว้ใต้ผ้าอ้อมในก้นเด็ก เพื่อกัน "ขี้ดำ" เพราะถ้าขี้ดำไปโดนผ้าอ้อมตรงๆ แล้วจะเป็นคราบและซักออกยากมากก (ก.ไก่ ล้านตัว) ซึ่งกระดาษทิชชู่นี้ก็ได้ไม่ไปทำให้น้องระคายเคืองอะไรครับ เพราะไม่ทันรู้สึก ก็ฉี่และเปลี่ยนผ้าอ้อมอีกแล้ว

     - ที่ปั้มนมคุณแม่ ถ้าเป็นแบบคู่เลยก็ดี

     เนื่องจากลูกน้อยเพิ่งจะคลอด ในบางครั้งอาจจะดูดนมไม่ถูก เข้าท่าไม่ถนัด ดูดได้ไม่เกลี้ยงเต้า จึงจำเป็นจะต้องมีการปั๊มนมออกมาจนเกลี้ยง และจะทำให้ร่างกายมีการผลิตน้ำนมออกมาได้มากกว่าเดิมเรื่อยๆ ด้วยครับ และการปั๊มออกมา อาจจะเอามาใส่ขวดเพื่อให้น้องหัดทั้งการดูดเต้า และดูดจากขวดไปในวันแรกๆ ได้เลย และช่วยสลับกับคุณแม่ได้นี๊ดนึงครับ ขยันปั๊มทุก ๆ 2 ชั่วโมง ช่วงที่อยู่โรงพยาบาลเลย

     อันนี้เป็นเรื่องสำคัญครับ เพราะถ้าเกิดทำให้น้ำนมออกไม่เกลี้ยงเต้าแล้ว จะทำให้เกิดเป็นไตแข็งที่เต้านม และทำให้เต้านมเจ็บปวด และน้ำนมก็ไม่ไหล ดูดไม่ได้อีก จะทำให้มีปัญหาในการให้นมในรอบต่อๆ ไปด้วย

     - ผ้ายางรองกันเปื้อน อย่างน้อย 1-2 แผ่น 

     เนื่องจากน้องฉี่บ่อย แนะนำให้ใช้แบบที่กันน้ำได้ครับ เพื่อจะได้เช็ดทำความสะอาดได้ง่าย

ส่วนถ้าใครใช้แล้วทิ้ง ก็อาจจะใช้ฝั่งที่กันน้ำ ก็จะประหยัดกว่าการใช้แบบที่ต้องเปื้อนและซักทันที

     - แผ่นซับนมแบบใช้แล้วทิ้ง 

     เนื่องจากน้องดูดนมข้างหนึ่ง และจะไหลไปอีกข้างหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำนมไปเปียกชื้น จึงแนะนำให้มีติดไว้เลย ส่วนแนะนำใช้แบบใช้แล้วทิ้งนะ เพราะจะได้สะอาดใหม่เสมอ ไม่ต้องห่วงเรื่องการซักแล้วเกิดฝุ่นหรืออะไรมาเจือปน

     - น้ำยาซักผ้าเด็ก 1 ขวด/ถุง

     ใช้ซักผ้าเด็กโดยเฉพาะ โดยไม่ไปรวมกับน้ำยาซักผ้าของผู้ใหญ่ เพราะเราไม่รู้ว่ามันจะทำให้ระคายเคืองลูกน้อยมากน้อยแค่ไหน

     - น้ำยาล้างขวดนมและอุปกรณ์ 1 ขวด/ถุง

     เพราะจะต้องมีเครื่องปั๊มนมและอุปกรณ์ต่างๆ จึงจำเป็นต้องเตรียมไปล้างไว้ด้วย

   - แปรงล้างขวดนม อย่างน้อย 1 อัน

     มีไว้คู่กับน้ำยาล้างขวดนมครับ

     - เครื่องนึ่งขวดนม 1 เครื่อง

     สิ่งนี้จำเป็นมากในการเลี้ยงครับ เพื่อช่วยในการฆ่าเชื้อโรคจากอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างดี ซึ่งได้พบกับผู้ที่มีประสบการณ์ในการไม่ยอมใช้เครื่อง แต่หันมาใช้น้ำร้อนมาต้มเอง ไม่สะอาดพอจนทำให้น้องเกิดการติดเชื้อ หรือบางครั้งต้มอุปกรณ์จนขวดนมแตก ขวดละลายก็มี

เครื่องนี้ ช่วยผ่อนแรงในหลายๆ ด้านได้มากครับ

โดยเครื่องนึ่งจะมี 2 แบบคือแบบนึ่งฆ่าเชื้อ อย่างเดียว โดยเวลาการทำงานส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 ชั่วโมง แต่กว่าจะรอแห้ง ก็นานมาก

กับแบบนึ่งและอบแห้งด้วย โดยจะทำงานนึ่งและอบ ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 1-2 ชั่วโมง แต่จะแห้งกว่า ซึ่งบางยี่ห้อจะแห้งมากแห้งน้อย ขึ้นอยู่กับเครื่อง

     - ที่ตากขวดนม อย่างน้อย 1-2 อัน

     เพื่อไว้ตากอุปกรณ์ต่างๆ ที่ ล้างและนึ่ง แล้ว

     - ขวดนมแบบ 2-4 ออนซ์ อย่างน้อย 2 ขวด

     ใช้เพื่อตอนสลับกินนมระหว่างดูดเต้า กับกินนมขวด ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่วันแรกคลอด แต่แนะนำให้เป็นนมที่ปั๊มมาสด ๆ ไม่ใช่เป็นนมสต็อกครับ ส่วนขนาดของขวด ควรใช้ขนาดให้พอดีกับน้ำนม เพราะถ้าภายในขวดมีอากาศหรือช่องว่างมากเกินไป จะทำให้เด็กเกิดอาการท้องอืดได้ง่าย

     - หมอนรองให้นม 1 ใบ

     มีติดไว้ พร้อมใช้ที่โรงพยาบาลเลยครับ เนื่องจากที่คุณแม่จะต้องให้นมบ่อยมาก ทั้งที่เพิ่งจะออกจากห้องผ่าตัดบ้าง น้องงอแงจนอ่อนเพลียบ้าง ถ้าใช้หมอนรองให้นมจะช่วยเบาแรงในการอุ้มน้องดูดนมได้ครับ นอกเสียจากลูกน้องบางคนอาจจะใช้การนอนดูด แบบไม่ต้องใช้ อันนี้ก็จะเป็นบางบ้านที่ทำได้

     - ตะกร้าใส่ของลูกอย่างน้อย 2 ใบ

     เพื่อเตรียมของที่จำเป็นไปใช้ที่โรงพยาบาลโดยเฉพาะ

     - ผ้าห่อตัว หรือใช้ผ้าขนหนู มาห่อตัว อย่างน้อย 12 ผืน

     เนื่องจากเด็กแรกเกิดควรอยู่ในสภาพห่อตัวอบอุ่นตลอดเวลา ซึ่งก็จะมาพร้อมกับการเปียกแฉะฉี่ของน้องเช่นกัน จึงต้องมีการเปลี่ยนบ่อยๆ ซึ่งบางบ้านใช้ 12 ผืนก็อาจจะไม่พอ

     - ถุงน้ำร้อน 1 ถุง

     สิ่งนี้ติดไว้ กรณีที่น้องดูนมไม่เกลี้ยงเต้า แล้วจะทำให้เต้านมเป็นไตแข็ง ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความร้อนมาประคบเพื่อให้เบาลง โดยถ้าไมได้เตรียมอุปกรณ์นี้ไว้เตรียมคลอดแล้ว อาจจะหาใช้ในยามฉุกเฉินตอนดึก ๆ หรือด่วนๆ ไม่ได้

     - ผ้าอ้อมสำเร็จรูป สำหรับเด็กแรกเกิด 1 ห่อ

สำหรับบางโรงพยาบาลบังคับให้ใช้ผ้าอ้อม เพื่อจะได้ทราบถึงการขับถ่ายของลูกน้อยว่าบ่อยแค่ไหน แต่สำหรับบางที่ก็ให้ใช้แพมเพิสได้เลย ซึ่งสำหรับเคยเจอเหตุการณ์เพิ่งผ่าคลอดแล้วแผลยังไ่มหาย แล้วตอนอุ้มน้องกินนม และฉี่ใส่แผล จนทำให้แผลผ่าอักเสบ จนจำเป็นต้องใส่แพมเพิสให้น้อง

     - โลชั่นหรือออยส์ ขวดเล็กๆ 1 ขวด

บางที่อาจจะทำให้น้องผิวแห้ง อาจจะให้ออยส์ 1 หยดเล็ก ๆ ผสมตอนอาบน้ำเพื่อไม่ให้น้องผิวแห้ง ถ้ามากกว่านั้น ตัวน้องจะมันมาก

     แต่ถ้าบางสถานที่ไม่ได้ทำให้ตัวแห้งเกินไป ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ เพื่อป้องกันการแพ้ได้

     - กรรไกรตัดเล็บ 1 อัน

     เพื่อตัดเล็บน้องป้องกันการข่วนหน้า ซึ่งเด็กแรกเกิดบางคน เล็บยาวมาก จึงอาจจะได้ตัดกันตั้งแต่ที่โรงพยาบาล

 

     สิ่งที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ เจ้าของกระทู้ คิดเห็นว่าจำเป็นจะต้องมีตอนที่ไปคลอดที่โรงพยาบาลครับ

--------------------------     

     ส่วนสิ่งต่างๆ ต่อจากนี้ จะมองว่ายังไม่ต้องถึงกับเตรียมไปโรงพยาบาลก็ได้ ส่วนจะเตรียมไว้ที่บ้านหรือยัง ก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณของแต่ละท่านครับ

     - ถุงเก็บน้ำนม

     เตรียมปั๊มนมสต็อกไว้สลับกับการดูดนมจากแม่ตรงๆ 

     - ทากันยุงของเด็กแรกเกิด

     ถ้ามียุงจริงๆ แนะนำให้ใช้มุ้งครอบ หรือสเปรย์ฉีดรอบๆ หรือสติ๊กเกอร์ติดรอบๆ  ก็จะป้องกันการแพ้ได้มากกว่าครีมที่ทาตรงๆ ตัว

     - ปรอทวัดไข้

     มีติดบ้าน เพื่อกรณีที่ต้องการใช้ จะได้มีใช้ได้ทันที

     - ชุดป้อนยา

     แนะนำใช้แบบที่คล้ายๆ กับจุกนม มีติดไว้ 1 ชุดเผื่อกรณีที่ลูกน้อยเป็นไข้ และยังไม่ถนัดที่จะใช้ไซริงค์ และมีพร้อมใช้ในยามที่ลูกไม่สบาย ไม่เช่นนั้น พอต้องการจะใช้ อาจจะหาซื้อได้ลำบาก

     - ปากกาเขียนซีดี

     เพื่อเขียนถุงเก็บน้ำนมคุณแม่

     - เจลแปะลดไข้

     มีติดบ้าน กรณีฉุกเฉินที่น้องมีไข้ จะได้เตรียมใช้ได้ทัน

     - ที่อุ่นนมและอาหาร

     ไว้กรณีที่มีการนำนมสต็อกมาให้น้องสลับกิน (แต่ถ้าเป็นคุณแม่ที่อยู่ดูแลตลอด อาจจะไม่ต้องใช้ก็ได้)

     - กระดาษเปียก

     ถ้าต้องการใช้จริงๆ แนะนำเป็นแบบที่ไม่มีน้ำหอม ก็ช่วยป้องกันการแพ้ของลูกน้อยได้ครับ เพื่อความสะดวก

     - น้ำยาปรับผ้านุ่มเด็ก

     เบื้องต้นจะใช้ซักผ้าตั้งแต่แรกเกิดเลยก็ได้แต่ถ้าเบื้องต้นใช้แต่น้ำยาซักผ้า เพื่อดูการแพ้หรือไม่แพ้ ก่อนก็ได้

     - มุ้งเตียง/มุ้งครอบ

     ถึงภายในบ้านจะไม่มียุง แต่การใช้มุ้งครอบ ก็ช่วยป้องกันแมลงคลาน หรือแมลงเล็ก ๆ เล็ดลอดไปถึงตัวลูกน้อยได้

     - คาร์ซีท

     เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีหลังจากออกจากโรงพยาบาล เพราะการมีคาร์ซีทนั้น เพื่อช่วยป้องกันอันตรายได้เป็นอย่างดี

     - กระเป๋าเก็บอุณหภูมิ

     ใช้ในยามเดินทาง แต่ถ้าเน้นดูดจากนมแม่ก็อาจจะยังไม่ต้องเตรียมก็ได้

     - ที่ดูดน้ำมูกเด็ก

     ว่างๆ ก็ค่อยเตรียมไว้ เพื่อฉุกเฉินได้ใช้

     - กระเป๋าใส่ของใช้เด็กๆ

     - มหาหิงส์ ไกร๊ปวอเตอร์ ( Gripe water ) หรืออื่นๆที่ ป้องกันเด็กๆ ท้องอืด

     แต่ถ้าอุ้มน้องให้เรอได้ทุกครั้งหลังจากที่กินนมเสร็จแล้ว ปัญหาการท้องอืดก็จะน้อยมาก จนอาจจะไม่ได้ใช้สิ่งเหล่านี้

     - เสื้อป้ายแขนยาว ขายาว เสื้อออกไปเที่ยวข้างนอก

     ซึ่งโดยเบื้องต้นแล้ว เด็กน้อยจะถูกผ้าห่อตัวห่ออยู่ จะหนาจะบางจึงขึ้นอยู่กับผ้าห่อตัวมากกว่า และในช่วง 3 เดือนแรก คุณหมอจะยังไม่ค่อยแนะนำให้ออกไปข้างนอกบ่อยๆ ถ้าไม่จำเป็น

     - หมวกเด็กอ่อน     

     ถ้ายังอยู่ในผ้าห่อตัว หรือไม่ได้ออกไปไหน ก็ยังไม่จำเป็นครับ

     - ผ้ากันเปื้อน

     ในกรณีนี้ สามารถใช้ผ้าอ้อมแทนได้ เพราะนุ่มนวลใช้ได้

     - กางเกงผ้าอ้อม

     กว่าจะออกจากโรงพยาบาล อาจจะผูกชำนาญแล้ว อาจจะไม่จำเป็น

     - เก้าอี้สำหรับอาบน้ำเด็ก

     สำหรับผู้ที่ไม่ชำนาญในการอาบน้ำเด็กน้อย เอามาใช้ก็ได้ครับ แต่โดยส่วนใหญ่ที่โรงพยาบาลมักจะสอนการอาบน้ำแบบไม่ต้องใช้เก้าอี้อาบน้ำมาก่อนแล้ว

     - แป้ง

     เพื่อลดการเกิดภูมิแพ้ สำหรับเด็กบางคน ยังไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้ครับ จนกว่าจะแน่ใจว่า ลูกน้อยไม่แพ้พวกฝุ่นผง หรือน้ำหอม จึงค่อยใช้     

     - ครีมทาหัวนมแตก

     ถ้ามีการนำน้องเข้าเต้าอย่างถูกวิธี มักจะไม่ค่อยเกิดเหตุการหัวนมแตก (ส่วนใหญ่มักจะเป็นกับลูกคนแรก)

     - วาสลีน     

    ไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้ครับ

จำนวนคนดู : 1,853 วันที่สร้าง : 28/04/2021